Google

Sunday, October 25, 2009

จากปีกาญจนาภิเษก

ก่อนจะถึงปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี หรือที่เรียกกันว่า ปีกาญจนาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น กองทัพเรือได้กำหนดจัดโครงการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษนั้นหลายโครงการ ในจำนวนโครงการเหล่านั้นมี ๒ โครงการที่เกี่ยวเนื่องมาถึงกาพย์เห่เรือ คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่ง และโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค

โครงการสร้างเรือพระที่นั่งมีที่มาจากความดำริว่า เรือพระที่นั่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ล้วนมีอายุการใช้งานมานาน สมควรจะมีเรือพระที่นั่งลำใหม่ไว้ใช้ทดแทนในพระราชพิธี และเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันในโครงการนี้ประกอบด้วย กองทัพเรือ รับผิดชอบในการจัดหาช่างฝีมือและดำเนินการสร้าง กรมศิลปากร รับผิดชอบเรื่องรูปแบบและลวดลายศิลปกรรม และ ธนาคารไทยพาณิชย์ รับผิดชอบเรื่องการจัดหาทุน

เมื่อการสร้างเรือพระที่นั่งดำเนินไปใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ผู้รับผิดชอบการจัดหาทุน ก็เกิดแนวความคิดว่า เมื่อมีเรือพระที่นั่งลำใหม่ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ก็ควรจะมีกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำนี้ขึ้นไว้ควบคู่กัน จึงประกาศให้มีการประกวดแต่งกาพย์เห่เรือขึ้น กาพย์เห่เรือที่ประกวดครั้งนั้นคณะกรรมการกำหนดให้แต่งเพียง ๑ บท

ตามแบบแผนของกาพย์เห่เรือนั้น กาพย์เห่เรือบทหนึ่งหรือ ๑ บท จะต้องประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท และกาพย์ยานีอีกหลายบท(ความยาวของกาพย์ยานีนั้นไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แต่ง หรือความประสงค์ที่จะนำไปใช้ อาจจะยาวเพียง ๕-๖ บท ไปจนถึง ๕๐ กว่าบทก็เคยมี) รวมความว่าโคลงสี่สุภาพ ๑ บท และกาพย์ยานีตามจำนวนดังกล่าวนั้นรวมกันเรียกว่า กาพย์เห่เรือบทหนึ่ง หรือ ๑ บท

ในการประกวดคราวนั้น คณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขว่า กาพย์เห่เรือ ๑ บทที่กำหนดให้แต่งนั้น จะต้องมีโคลงสี่สุภาพ ๑ บทตามแบบแผน และต้องมีกาพย์ยานีความยาว ๑๕ ถึง ๒๐ บท และกำหนดให้บรรยายถึงความงามของเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ส่วนหนึ่ง และบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกส่วนหนึ่ง

ถึงตอนนี้ เห็นควรเล่าถึงเบื้องหลังการแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดในครั้งนั้นให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไว้เป็นประวัติศาสตร์ด้วย

เวลานั้นผู้เขียนมียศนาวาโท แม้จะเป็นข้าราชการในกองทัพเรือ แต่ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับโครงการสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ และแม้แต่เรือพระที่นั่งลำนี้ก็ยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป ตอนที่มีประกาศเชิญชวนให้คนทั้งหลายแต่งเห่เรือเข้าประกวดนั้น เป็นปลายปี ๒๕๓๘ ผู้เขียนจำข้อความในแผ่นโฆษณาเชิญชวนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประโยคหนึ่งว่า การแต่งกาพย์เรือครั้งนี้จะเป็นการจารึกไว้ในแผ่นดิน อะไรทำนองนี้

ตอนนั้นผู้เขียนกำลังเข้าศึกษาในหลักสูตรโรงเรียนนายทหารอาวุโส วันหนึ่งได้เห็นแผ่นโฆษณาติดอยู่ป้ายประกาศของสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผู้เขียนยังพูดเปรยๆกับเพื่อนนายทหารนักเรียนด้วยกันว่า แหม นี่ถ้าไม่ได้เข้าเรียน ผมคงจะลองแต่งกับเขามั่งนะเนี่ย

ที่เปรยเช่นนี้ก็เพราะว่าช่วงเวลานั้น เวลาและความคิดจิตสมองติดพันวุ่นวายอยู่กับเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรของโรงเรียนจนไม่เป็นอันคิดอ่านทำเรื่องอะไรอีกได้

ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนได้ทราบว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ จัดประกวดกำลังสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการตัดสิน และได้ร้องขอมายังกองทัพเรือขอให้จัดส่งผู้ทรงคุณวุฒิของกองทัพเรือไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ๑ ท่าน เหตุผลที่ต้องร้องขอก็คงจะเป็นเพราะว่ากองทัพเรือเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบการจัดสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ จึงควรจะมีคนของกองทัพเรือร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินด้วย ผู้เขียนทราบว่าคำขอดังกล่าวนี้เมื่อส่งมาถึงกองทัพเรือ ทางกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือดำเนินการ และกรมยุทธศึกษาทหารเรือได้มอบหมายให้กองอนุศาสนาจารย์ดำเนินการคัดจัดคนไปเป็นกรรมการตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ขอมา

ผู้เขียนได้ทราบมาจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียนว่า ท่านเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือได้สั่งการด้วยวาจาว่า กองอนุศาสนาจารย์จะจัดใครไปเป็นกรรมการก็ได้ ยกเว้นนาวาโททองย้อย ผู้เขียนรับทราบแล้วก็เฉยๆไม่ได้คิดอะไรและไม่ได้เฉลียวใจใดๆทั้งสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องไปค้นเอกสารบางเรื่อง ที่กองอนุศาสนาจารย์ เพื่อประกอบการทำรายงาน ตอนนั้นกรมยุทธศึกษาทหารเรือย้ายกองบังคับการออกจากพระราชวังเดิมไปที่อาคารเก่าของสถานีทหารเรือกรุงเทพ ตรงที่เป็นหอประชุมกองทัพเรือเดี๋ยวนี้ รอเวลาที่จะย้ายไปอยู่ที่ศาลายาซึ่งกำลังสร้างอาคารกองบังคับการยังไม่แล้วเสร็จ ผู้เขียนก็เลยต้อง “แว่บ”ออกจากชั่วโมงเรียน เล็ดลอดจากศาลายา (ที่ตั้งของสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง) เข้าไปที่กองอนุศาสนาจารย์

ขณะที่กำลังค้นหาเอกสารง่วนอยู่นั้น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียน ก็ยื่นกระดาษแผ่นเล็กๆแผ่นหนึ่งให้ เป็นกระดาษที่จดบันทึกการสั่งการด้วยวาจามาอีกต่อหนึ่ง ข้อความในกระดาษสรุปความได้ว่า เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือสั่งให้นาวาโททองย้อย แต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด

ผู้เขียนสร้างจินตนาการขึ้นมาว่า ได้ร้องอุทธรณ์ทันทีว่า ผู้เขียนกำลังยุ่งเหยิงอยู่กับการเรียนท่านก็เห็นอยู่แล้ว จะเอาเวลาไหนไปแต่ง ในจินตนาการนั้นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียนก็อธิบายอะไรต่อมิอะไรอยู่หลายประโยค ได้ความคล้ายๆกับว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือประกาศิตจากสวรรค์ อะไรทำนองนั้น แล้วท่านก็สรุปว่า ผมช่วยไม่ได้ คือช่วยไปเข้าเรียนแทนคุณไม่ได้ ยิ่งช่วยแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดแทน ก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นชะตากรรมที่คุณต้องเผชิญเอาเอง

ความจริงแล้วผู้เขียนไม่ได้อุทธรณ์อะไร เพราะคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือประกาศิตจากสวรรค์อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องอุทธรณ์กับใคร นอกจากเตรียมจัดระเบียบภายในของตัวเอง คือวางแผนว่าจะเอาเวลาไหนแต่ง เวลางานปกติน่ะไม่มีแล้ว เสาร์อาทิตย์ก็อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมการบ้าน

อันที่จริง เวลาว่างของผู้เขียนก็พอมี ปกติผู้เขียนต้องเดินทางจากบ้านต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯแบบเช้าไป-เย็นกลับทุกวัน และพาหนะที่ใช้อยู่เป็นประจำคือรถไฟ ซึ่งใช้เวลาจากต้นทางถึงปลายทางประมาณเที่ยวละ ๒ ชั่วโมง ไป-กลับ ๔ ชั่วโมง แปลว่า ผู้เขียนมีเวลานั่งนิ่งๆอยู่ในรถไฟวันละ ๔ ชั่วโมง และผู้เขียนเคยใช้เวลาเช่นนี้แต่งกาพย์กลอนเบ็ดเตล็ดมาแล้วอยู่เสมอ (แม้แต่หนังสือ โคลงโลกนิติฉบับถอดความ ที่ผู้เขียนจัดทำขึ้น ก็ใช้เวลาที่อยู่บนรถไฟนี่เอง เรียบเรียงบทถอดความเกือบทั้งหมด) ผู้เขียนจึงวางแผนใช้เวลาระหว่างเดินทางโดยรถไฟทุกวันนี่แหละแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด ตามประกาศิตจากสวรรค์

ผู้เขียนใช้เวลาเฉพาะที่อยู่ในรถไฟรวมแล้วประมาณ ๒ เดือนก็แต่งกาพย์เห่เรือเสร็จ และใช้เวลา “บ่มเพาะ” ตามเคล็ดลับของผู้เขียน คือทิ้งไว้จนลืม อีกประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วหยิบขึ้นมาอ่านใหม่ด้วยความรู้สึกของใครคนอื่นที่ไม่ใช่เราผู้แต่งเอง(เพราะในระหว่าง ๒ สัปดาห์นั้นเราลืมไปแล้วว่าเราแต่งไว้อย่างไรบ้าง) ก็พบข้อด้อยตรงนั้น ข้อบกพร่องตรงโน้น ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดทั้งเรื่อง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็ส่งเข้าประกวดได้ทันเวลาพอดี และเมื่อส่งไปแล้วก็มิได้ติดใจรอผลแต่ประการใด นอกจากโล่งอกเหมือนยกภูเขาออกจากอก คิดว่าเป็นอันหมดธุระเสียที

เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการตัดสินออกมาแล้ว ผู้เขียนจึงได้ทราบกรรมวิธีในการคัดเลือกและตัดสิน ซึ่งสมควรเล่าไว้ในที่นี้ด้วย

เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์รับบทประพันธ์กาพย์เห่เรือจากผู้ส่งเข้าประกวดซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๐ สำนวนแล้ว ก็ดำเนินการดังนี้

๑.ทำสำเนาส่งให้กรรมการทุกท่าน(กรรมการมี ๑๐ ท่าน) โดยตัดชื่อผู้แต่งออก ใส่หมายเลขลงไปแทน ให้กรรมการได้เห็นเฉพาะข้อความที่เป็นบทกาพย์เห่เรือเท่านั้น โดยวิธีนี้กรรมการจึงไม่มีทางทราบได้ว่ากาพย์เห่เรือสำนวนหมายเลขไหนเป็นของผู้ใดแต่ง

๒.ให้กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกบทประพันธ์ที่เห็นว่าดีที่สุดไว้ท่านละ ๑๕ สำนวน โดยวิธีนี้ บทประพันธ์ที่กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกไว้จึงมีทั้งที่ซ้ำกันและที่ไม่ซ้ำกันกับกรรมการท่านอื่นๆ

๓.ให้กรรมการแต่ละท่านนำบทประพันธ์สำนวนที่ตนคัดเลือกไว้ตามข้อ ๒ มาเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการ แล้วแถลงเหตุผลที่คัดเลือกสำนวนนั้นๆเพื่อให้ที่ประชุมรับฟังโดยทั่วถึงกัน เป็นทำนองสนับสนุนสำนวนที่ตนคัดเลือกว่า สำนวนนี้ดีอย่างนั้นๆ สำนวนนี้ดีอย่างนี้ๆ วิธีนี้ทำให้กรรมการแต่ละท่านมีโอกาสฟังเหตุผลของกันและกัน ทำให้เห็นมุมมองที่มีต่อบทประพันธ์สำนวนนั้นๆแตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นข้อมูลในขั้นตอนต่อไป

๔.บทประพันธ์ที่กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกไว้ และได้อภิปรายถึงข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละสำนวนแล้วนั้น ให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง ๑๐สำนวน สำนวนที่คัดเลือกไว้ในขั้นตอนนี้ ถือว่ามีคะแนนเป็นศูนย์เท่ากันหมด

๕.จากนั้นก็นำบทประพันธ์ทั้ง ๑๐ สำนวนตามข้อ ๔ มาอภิปรายกันอีกรอบหนึ่ง ว่าสำนวนไหนดีอย่างไร ด้อยอย่างไร แล้วให้กรรมการแต่ละท่านจัดลำดับ ว่าสำนวนไหนควรจะเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ไปตามลำดับ สำนวนที่ได้คะแนนรวมจากกรรมการมากที่สุดก็เป็นที่ ๑ รองลงไปก็เป็นที่ ๒ ที่ ๓ และเป็นรางวัลชมเชย

๖.เมื่อคัดเลือกจัดอันดับให้ครบถ้วนลงตัวหมดแล้ว จึงให้เปิดเผยชื่อผู้แต่ง และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน


เมื่อประกาศผลและเปิดเผยชื่อผู้แต่ง ปรากฏว่าสำนวนที่กรรมการทุกคนลงคะแนนตรงกันทั้งหมดว่าสมควรเป็นที่ ๑ นั้น ผู้แต่งชื่อ นาวาโท ทองย้อย แสงสินชัย ซึ่งเป็นบุคคลในกองทัพเรือ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นทำนองว่า กองทัพเรือเป็นผู้สร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คนของกองทัพเรือก็ต้องชนะการประกวดกาพย์เห่เรือเป็นธรรมดา

ตอนแรกผู้เขียนก็รู้สึกเป็นทุกข์ไปกับคำวิพากษ์วิจารณ์ และรู้สึกว่าการได้รับรางวัลครั้งนั้นเป็นทุกขลาภอย่างยิ่ง แต่เมื่อทราบขั้นตอนการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็โล่งใจและสบายใจมาก

กรรมการที่ไปจากกองทัพเรือได้เล่าให้ผู้เขียนฟังในภายหลังว่า ระหว่างที่คณะกรรมการประชุมหารือคัดเลือกตัดสินกันอยู่นั้น ท่านอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์(ท่านผู้นี้เป็นกวีซีไรท์ และเป็นศิลปินแห่งชาติ มีสรรพคุณปานไรไม่จำเป็นต้องสาธยาย) ๑ ใน ๑๐ ของคณะกรรมการ ได้เปรยกับกรรมการบางท่านว่า “ผมรู้แล้วว่า สำนวนนี้เป็นฝีปากใคร” แต่เมื่อเปิดตัวผู้แต่ง “สำนวนนี้”ออกมาจริงๆ ท่านก็สารภาพว่าท่านเดาผิดไปมาก เพราะเจ้าของฝีปากที่ท่านบอกว่า พออ่านก็รู้แล้วว่าเป็นใคร นั้นท่านบอกว่า ไม่ใช่คนนี้ แต่จะเป็นคนไหนที่ท่านเดาผิด ท่านก็ไม่ได้บอก

ผู้เขียนได้ฟังเรื่องนี้แล้วก็ยิ่งสบายใจ เพราะเห็นได้ชัดว่ากรรมการแต่ละท่านไม่มีทางรู้ได้เลยว่าบทประพันธ์สำนวนไหนเป็นของคนในกองทัพ หรือสำนวนไหนเป็นของใคร แม้แต่กวีซีไรท์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่เป็นมือพระกาฬในทางเสพและสร้างสรรค์สร้างสำนวนโวหาร ก็ยังเดาผิดไปไกล!

เมื่อกาพย์เห่เรือฉบับของผู้เขียนได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการของกองทัพเรืออีกโครงการหนึ่ง นั่นคือโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค กล่าวคือ เมื่อกาพย์เห่เรือ ฉบับชนะเลิศได้ประกาศเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีความคิดในบรรดาผู้รับผิดชอบโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคว่า ควรใช้กาพย์เห่เรือฉบับนั้นเป็นบทเห่ แต่เนื่องจากกาพย์เห่เรือฉบับชนะการประกวดนั้นมีเพียงบทเดียว ไม่พอที่จะใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคซึ่งต้องใช้กาพย์เห่เรือหลายบท จึงจำเป็นที่จะต้องมีกาพย์เห่เรือเพิ่มขึ้น และนั่นเองจึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนถูกประกาศิตจากสวรรค์ให้ต้องเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือเพิ่มเติมให้มีจำนวนเพียงพอแก่การใช้เห่

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังหรือความเป็นมา อันถือได้ว่าเป็น “ปฐมเหตุ” ของกาพย์เห่เรือ ที่เรียกกันสั้นๆว่า กาพย์เห่เรือ กาญจนาภิเษก

แต่ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริงนั้น ก็คือผู้ที่สั่งให้ผู้เขียนแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด ทั้งๆที่ตอนนั้นผู้เขียน”ถอดใจ”ไปแล้ว ถ้าไม่มีท่านผู้นั้นเป็นคนสั่ง กาพย์เห่เรือของผู้เขียนก็คงไม่ได้เกิด จึงขออนุญาตเอ่ยนามของท่านผู้นั้นเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ไว้ในทีนี้ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ท่านผู้นั้นก็คือ พลเรือโท อธิคม ฮุนตระกูล เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือในขณะนั้น(ยศครั้งสุดท้าย พลเรือเอก)

เมื่อตกลงว่าจะต้องแต่งกาพย์เห่เรือ กาญจนาภิเษกแน่นอนแล้ว ผู้เขียนมีแนวความคิดว่า เบื้องต้นควรจะต้องหารือกับพนักงานเห่เสียก่อน พอดีพนักงานเห่ในเวลานั้นก็คือ นาวาเอก มงคล แสงสว่าง(ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์) ประจำปี ๒๕๔๓, ต่อมาเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ทางราชการขอพระราชทานยศให้เป็น พลเรือตรี) ซึงอยู่ในกองทัพเรือด้วยกัน การติดต่อประสานงานปรึกษาหารือรายละเอียดต่างๆจึงสะดวกมาก

พนักงานเห่ให้ความเห็นว่า ความยาวของกาพย์เห่เรือคราวนี้ควรจะเป็น ๕ บท ไม่ควรมากหรือน้อยกว่านี้ ถ้าเกิดกรณีเห่หมดทั้ง ๕ บทแล้ว กระบวนเรือยังยาตราไม่ถึงวัด ก็จะเห่ซ้ำบทใดบทหนึ่ง เมื่อตกลงกันอย่างนี้ ผู้เขียนก็ลงมือศึกษากาพย์เห่เรือทั้งหมดที่เคยแต่งกันมาในแผ่นดินนี้ และมีความเห็นว่ากาพย์เห่เรือในอดีตเมื่อชมเรือแล้วก็มักชมปลาและชมนกชมไม้อันเป็นสภาพแวดล้อมจริงของยุคสมัยนั้น แต่สมัยนี้ตามเส้นทางที่กระบวนเรือจะยาตราไม่มีธรรมชาติเช่นนั้นจะให้ชื่นชม หากแต่งบรรยายตามแบบเก่าก็จะเป็นการเสแสร้งประดิษฐ์ผิดความจริงไป

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ จึงได้ตกลงใจกำหนดเนื้อความที่จะใช้บรรยายแต่ละบทดังนี้ คือ

ชมเรือกระบวนบทหนึ่ง เพราะกระบวนเรือเป็นของจริงที่ยังมีให้ชมได้

บรรยายถึงบุญกฐินบทหนึ่ง เนื่องจากกกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนี้ กำหนดขึ้นในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ชมเมืองบทหนึ่ง แต่ชมในแง่ประเพณีวัฒนธรรม ไม่ได้ชมตึกรามบ้านเรือนถนนหนทางอันเป็นวัตถุสมัยใหม่

สรรเสริญพระบารมีบทหนึ่ง อันนับว่าเป็นหัวใจของกาพย์เห่เรือ ปีกาญจาภิเษก เพราะจุดศูนย์รวมหรือองค์ประธานของงานนี้ก็คือองค์ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อรวมเอากาพย์เห่เรือในโครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ อีกบทหนึ่งเข้าไปแล้ว ก็จะครบ ๕ บทตามที่ต้องการ เมื่อได้กาพย์เห่เรือสมบูรณ์ทั้ง ๕ บทแล้ว ยังคงต้องประสาน-ปรึกษากับพนักงานเห่ต่อไปอีกในระหว่างฝึกซ้อม เพื่อปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่อาจจะเป็นข้อขัดข้อง ไม่สะดวก หรือไม่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาเห่ จนกระทั่งได้ถ้อยคำที่เหมาะเจาะลงตัวทุกกระบวนท่า เป็นที่พอใจทั้งของผู้แต่ง ของพนักงานเห่ และที่สำคัญคือ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่กองทัพเรือแต่งตั้งขึ้น.

1 comment:

  1. ใครเป็นผู้แต่งบทเห่เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 ครับ

    ReplyDelete

Google

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 1

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 2

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 3 ตอนจบ

คลิปเห่เรือในตอนกลางคืนงานเอเปค