Google

Saturday, October 24, 2009

และถึงงานประชุมเอเปค

เมื่อปี ๒๕๔๖ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจแห่งเอเชียและแปซิฟิค หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เอเปค ในงานนี้รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคให้ผู้นำประเทศต่างๆ และแขกเมืองที่เข้ามาปฏิบัติงานในโอกาสนั้นได้ชม กองทัพเรือก็แต่งตั้งกรรมการเตรียมการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นมารับผิดชอบตามขั้นตอนและวิธีการที่เคยปฏิบัติมาทุกครั้ง และคราวนี้ผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรืออีกเช่นเคย กำหนดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๖

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้นต้องถือว่าเป็น”การแสดง”อย่างแท้จริง เพราะว่ากระบวนพยุหยาตรา ไม่ว่าจะเป็นชลมารค(ทางน้ำ) หรือ สถลมารค(ทางบก) เท่าที่เคยจัดกันมานั้นมักจะเป็นพระราชพิธี กล่าวคือจะต้องจัดขึ้นในงานพระราชพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีพระราชโองการให้จัดขึ้นเพื่อการใดกรหนึ่งที่จัดขึ้นเป็นพระราชพิธีและรู้จักกันอยู่ทั่วไปก็คือ กระบวนพยุหยาตราชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ที่เป็นการอื่นจากนี้ไม่ค่อยปรากฏ

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ กระบวนพยุหยาตรานั้นจัดขึ้นในโอกาสที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินจากที่หนึ่งไปยังที่ใดที่หนึ่ง คือพระเจ้าแผ่นดินไปในกระบวนด้วย แต่กระบวนพยุหยาตราชลมารคที่จัดขึ้นในโอกาสประชุมเอเปคนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จอยู่ในกระบวนแต่ประการใด จึงเป็นเพียง”การแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค” เท่านั้น

อีกประการหนึ่ง กระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่าที่เคยจัดขึ้นนั้นจัดในเวลากลางวัน(เพราะตามธรรมดา การเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้นทำในเวลากลางวันย่อมสะดวกกว่ากลางคืน) แต่การแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในโอกาสประชุมเอเปคคราวนั้นทำในเวลากลางคืน ซึ่งนับว่าผิดแผกไปกว่าทุกคราว แต่ต้องกล่าวว่าเป็นการแปลกไปในทางที่ดี คือทำให้ได้เห็นสีสันอันสวยงามของกระบวนเรือท่ามกลางแสงไฟในยามราตรี อันเป็นภาพที่เราไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน

เมื่อกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนั้นเป็นการแสดง เวลาใช้ในการแสดงและรายละเอียดต่างๆก็สามารถกำหนดขึ้นและกำกับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทุกประการ ผู้เขียนได้รับแจ้งข้อมูลว่า เวลาที่ใช้ในการแสดงไม่มากนัก เพราะฉะนั้น กาพย์เห่เรือที่จะใช้ก็ไม่ต้องยาวมาก ผู้เขียนจึงเตรียมกาพย์เห่เรือไว้เพียง ๒ บท คือ ชมกระบวนเรือ บทหนึ่ง และ ชมเมือง อีกบทหนึ่ง(ในเวลาเห่จริงทราบว่าใช้กาพย์เห่เรือเพิ่มอีกบทหนึ่งซึ่งมีผู้ระบุว่าเป็นของท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติผู้สูงทั้งวัยวุฒิ เรื่องนี้ผู้เขียนไม่ทราบมาก่อน และเมื่อได้ทราบเข้าก็รู้สึกตกใจมาก ถ้าทราบว่าจะใช้กาพย์เห่เรือฝีปากท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท ด้วยผู้เขียนซึ่งเป็นเพียงหิ่งห้อยจะไม่บังอาจไปทาบรัศมีกับดวงอาทิตย์เช่นนั้นเลย)

ในกาพ์เห่เรือเอเปค มีอยู่บทหนึ่งที่มีคนจำกันได้มาก และมีผู้ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ กล่าวตามสำนวนนักเขียนก็ว่าเป็น”วรรคทอง” ของกาพย์เห่เรือเอเปค คือบทที่ว่า

เทคโนอาจน้อยหน้า แต่ข้าวปลาไม่ขัดสน
สินทรัพย์อาจอับจน แต่ใจคนไม่จนใจ

ความจริงแล้วยังมีอีกบทหนึ่งซึ่งผู้เขียนเองชอบมากกว่าบทนี้ นั่นคือบทต่อไปที่ว่า
บ้านเรือนไม่หรูหรา แต่สูงค่าปัญญาไทย
หนทางอาจห่างไกล แต่หัวใจใกล้ชิดกัน

สองวรรคแรกหมายความว่า บ้านช่องเรือนชานตามแบบของไทยแท้ๆนั้นอาจจะไม่หรูหราโอ่อ่าเหมือนบ้านฝรั่ง แต่ก็มีคุณค่าสูงในความรู้สึกของเรา มันเหมาะกับภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศเรา และเรามิได้ลอกเลียนเอามาจากใคร หากแต่เป็นภูมปัญญาของไทยเราเอง

ส่วนสองวรรคหลังมีความหมายว่า ถนนหนทางในบ้านเมืองเราอาจจะยังไม่ดี อาจจะทำให้รู้สึกว่ากว่าจะไปมาถึงกันได้ช่างไกลเหลือเกิน แต่หัวใจของคนไทยนั้นเรารักใคร่ใกล้ชิดสนินสนมกันอย่างยิ่ง หนทางที่ห่างไกลหาได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดไม่
อีกนัยหนึ่งก็มีความหมายว่า แขกบ้านแขกเมืองที่มากันคราวนี้เดินทางมาไกล บ้านเมืองอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน แต่ไมตรีจิตมิตรภาพที่เรามีต่อกัน ที่ออกมาจากใจจริงของเรานั้นก็ทำให้เราใกล้ชิดกันได้ จึงว่า หนทางอาจห่างไกล แต่หัวใจใกล้ชิดกัน.

No comments:

Post a Comment

Google

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 1

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 2

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 3 ตอนจบ

คลิปเห่เรือในตอนกลางคืนงานเอเปค