ครั้นถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กองทัพเรือก็ได้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อเฉลิมพระเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม กำหนดวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒
ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้แต่งกาพย์เห่เรือเพื่อใช้ในการนี้อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนี้กับคราวกาญจนาภิเษกมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ ปรารภองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน และจัดในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเช่นเดียวกัน ข้อแตกต่างมีเพียงว่า คราวก่อนเป็นปีกาญจนาภิเษก คราวนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
ผู้เขียนจึงได้นำกาพย์เห่เรือในคราวกาญจนาภิเษกมาปรับปรุงให้เข้ากับเหตุการณ์ เพื่อใช้เห่ในคราวนี้ แต่เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม คือ บทที่ ๑ ชมกระบวนเรือ บทที่ ๒ บุญกฐิน บทที่ ๓ ชมเมือง ทั้ง ๓ บทนี้มีเนื้อความเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่จะยกขึ้นมาพรรณนาได้นั้น มีเรื่องราวเค้าความคงที่ลงตัวอยู่แล้ว และตามแบบลีลาของกาพย์เห่เรือและกรอบของงานที่จัดขึ้น คือ จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินนั้น ถ้าหยิบยกเอาเรื่องราวตามหัวข้อทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้นขึ้นมาพรรณนา ผู้เขียนก็ยังนึกไม่ออกว่ามีหัวข้ออะไรที่จะเหมาะสมกว่านี้ ส่วนบทที่ ๔ ก็เป็นบทสรรเสริญพระบารมี เช่นเดียวกับปีกาญจนาภิเษก เพียงแต่ปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้หมายถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ก็เป็นอันสำเร็จเรียบร้อย
ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ได้จากคราวกาญจนาภิเษกก็คือ กาพย์เห่เรือที่เตรียมไว้ถึง ๕ บทนั้น เมื่อใช้เห่เข้าจริงๆเห่ไปเพียง ๒ หรือ ๓ บท กระบวนเรือก็ถึงวัดแล้ว คราวนี้เตรียมกาพย์เห่เรือไว้ ๔ บท จึงน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกาพย์ไม่พอเห่แต่อย่างใด.
No comments:
Post a Comment