Google

Sunday, October 25, 2009

จากปีกาญจนาภิเษก

ก่อนจะถึงปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี หรือที่เรียกกันว่า ปีกาญจนาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นั้น กองทัพเรือได้กำหนดจัดโครงการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษนั้นหลายโครงการ ในจำนวนโครงการเหล่านั้นมี ๒ โครงการที่เกี่ยวเนื่องมาถึงกาพย์เห่เรือ คือ โครงการสร้างเรือพระที่นั่ง และโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค

โครงการสร้างเรือพระที่นั่งมีที่มาจากความดำริว่า เรือพระที่นั่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ล้วนมีอายุการใช้งานมานาน สมควรจะมีเรือพระที่นั่งลำใหม่ไว้ใช้ทดแทนในพระราชพิธี และเป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันในโครงการนี้ประกอบด้วย กองทัพเรือ รับผิดชอบในการจัดหาช่างฝีมือและดำเนินการสร้าง กรมศิลปากร รับผิดชอบเรื่องรูปแบบและลวดลายศิลปกรรม และ ธนาคารไทยพาณิชย์ รับผิดชอบเรื่องการจัดหาทุน

เมื่อการสร้างเรือพระที่นั่งดำเนินไปใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ผู้รับผิดชอบการจัดหาทุน ก็เกิดแนวความคิดว่า เมื่อมีเรือพระที่นั่งลำใหม่ ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ก็ควรจะมีกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำนี้ขึ้นไว้ควบคู่กัน จึงประกาศให้มีการประกวดแต่งกาพย์เห่เรือขึ้น กาพย์เห่เรือที่ประกวดครั้งนั้นคณะกรรมการกำหนดให้แต่งเพียง ๑ บท

ตามแบบแผนของกาพย์เห่เรือนั้น กาพย์เห่เรือบทหนึ่งหรือ ๑ บท จะต้องประกอบด้วยโคลงสี่สุภาพ ๑ บท และกาพย์ยานีอีกหลายบท(ความยาวของกาพย์ยานีนั้นไม่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้แต่ง หรือความประสงค์ที่จะนำไปใช้ อาจจะยาวเพียง ๕-๖ บท ไปจนถึง ๕๐ กว่าบทก็เคยมี) รวมความว่าโคลงสี่สุภาพ ๑ บท และกาพย์ยานีตามจำนวนดังกล่าวนั้นรวมกันเรียกว่า กาพย์เห่เรือบทหนึ่ง หรือ ๑ บท

ในการประกวดคราวนั้น คณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขว่า กาพย์เห่เรือ ๑ บทที่กำหนดให้แต่งนั้น จะต้องมีโคลงสี่สุภาพ ๑ บทตามแบบแผน และต้องมีกาพย์ยานีความยาว ๑๕ ถึง ๒๐ บท และกำหนดให้บรรยายถึงความงามของเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ส่วนหนึ่ง และบรรยายถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกส่วนหนึ่ง

ถึงตอนนี้ เห็นควรเล่าถึงเบื้องหลังการแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดในครั้งนั้นให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไว้เป็นประวัติศาสตร์ด้วย

เวลานั้นผู้เขียนมียศนาวาโท แม้จะเป็นข้าราชการในกองทัพเรือ แต่ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับโครงการสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ และแม้แต่เรือพระที่นั่งลำนี้ก็ยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป ตอนที่มีประกาศเชิญชวนให้คนทั้งหลายแต่งเห่เรือเข้าประกวดนั้น เป็นปลายปี ๒๕๓๘ ผู้เขียนจำข้อความในแผ่นโฆษณาเชิญชวนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประโยคหนึ่งว่า การแต่งกาพย์เรือครั้งนี้จะเป็นการจารึกไว้ในแผ่นดิน อะไรทำนองนี้

ตอนนั้นผู้เขียนกำลังเข้าศึกษาในหลักสูตรโรงเรียนนายทหารอาวุโส วันหนึ่งได้เห็นแผ่นโฆษณาติดอยู่ป้ายประกาศของสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผู้เขียนยังพูดเปรยๆกับเพื่อนนายทหารนักเรียนด้วยกันว่า แหม นี่ถ้าไม่ได้เข้าเรียน ผมคงจะลองแต่งกับเขามั่งนะเนี่ย

ที่เปรยเช่นนี้ก็เพราะว่าช่วงเวลานั้น เวลาและความคิดจิตสมองติดพันวุ่นวายอยู่กับเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรของโรงเรียนจนไม่เป็นอันคิดอ่านทำเรื่องอะไรอีกได้

ก่อนหน้านั้น ผู้เขียนได้ทราบว่าธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าภาพ จัดประกวดกำลังสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการตัดสิน และได้ร้องขอมายังกองทัพเรือขอให้จัดส่งผู้ทรงคุณวุฒิของกองทัพเรือไปร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ๑ ท่าน เหตุผลที่ต้องร้องขอก็คงจะเป็นเพราะว่ากองทัพเรือเป็นหน่วยงานสำคัญที่รับผิดชอบการจัดสร้างเรือพระที่นั่งลำนี้ จึงควรจะมีคนของกองทัพเรือร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินด้วย ผู้เขียนทราบว่าคำขอดังกล่าวนี้เมื่อส่งมาถึงกองทัพเรือ ทางกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมยุทธศึกษาทหารเรือดำเนินการ และกรมยุทธศึกษาทหารเรือได้มอบหมายให้กองอนุศาสนาจารย์ดำเนินการคัดจัดคนไปเป็นกรรมการตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ขอมา

ผู้เขียนได้ทราบมาจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียนว่า ท่านเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือได้สั่งการด้วยวาจาว่า กองอนุศาสนาจารย์จะจัดใครไปเป็นกรรมการก็ได้ ยกเว้นนาวาโททองย้อย ผู้เขียนรับทราบแล้วก็เฉยๆไม่ได้คิดอะไรและไม่ได้เฉลียวใจใดๆทั้งสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องไปค้นเอกสารบางเรื่อง ที่กองอนุศาสนาจารย์ เพื่อประกอบการทำรายงาน ตอนนั้นกรมยุทธศึกษาทหารเรือย้ายกองบังคับการออกจากพระราชวังเดิมไปที่อาคารเก่าของสถานีทหารเรือกรุงเทพ ตรงที่เป็นหอประชุมกองทัพเรือเดี๋ยวนี้ รอเวลาที่จะย้ายไปอยู่ที่ศาลายาซึ่งกำลังสร้างอาคารกองบังคับการยังไม่แล้วเสร็จ ผู้เขียนก็เลยต้อง “แว่บ”ออกจากชั่วโมงเรียน เล็ดลอดจากศาลายา (ที่ตั้งของสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง) เข้าไปที่กองอนุศาสนาจารย์

ขณะที่กำลังค้นหาเอกสารง่วนอยู่นั้น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียน ก็ยื่นกระดาษแผ่นเล็กๆแผ่นหนึ่งให้ เป็นกระดาษที่จดบันทึกการสั่งการด้วยวาจามาอีกต่อหนึ่ง ข้อความในกระดาษสรุปความได้ว่า เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือสั่งให้นาวาโททองย้อย แต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด

ผู้เขียนสร้างจินตนาการขึ้นมาว่า ได้ร้องอุทธรณ์ทันทีว่า ผู้เขียนกำลังยุ่งเหยิงอยู่กับการเรียนท่านก็เห็นอยู่แล้ว จะเอาเวลาไหนไปแต่ง ในจินตนาการนั้นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้เขียนก็อธิบายอะไรต่อมิอะไรอยู่หลายประโยค ได้ความคล้ายๆกับว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือประกาศิตจากสวรรค์ อะไรทำนองนั้น แล้วท่านก็สรุปว่า ผมช่วยไม่ได้ คือช่วยไปเข้าเรียนแทนคุณไม่ได้ ยิ่งช่วยแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดแทน ก็ยิ่งไม่ได้ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นชะตากรรมที่คุณต้องเผชิญเอาเอง

ความจริงแล้วผู้เขียนไม่ได้อุทธรณ์อะไร เพราะคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือประกาศิตจากสวรรค์อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องอุทธรณ์กับใคร นอกจากเตรียมจัดระเบียบภายในของตัวเอง คือวางแผนว่าจะเอาเวลาไหนแต่ง เวลางานปกติน่ะไม่มีแล้ว เสาร์อาทิตย์ก็อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมการบ้าน

อันที่จริง เวลาว่างของผู้เขียนก็พอมี ปกติผู้เขียนต้องเดินทางจากบ้านต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯแบบเช้าไป-เย็นกลับทุกวัน และพาหนะที่ใช้อยู่เป็นประจำคือรถไฟ ซึ่งใช้เวลาจากต้นทางถึงปลายทางประมาณเที่ยวละ ๒ ชั่วโมง ไป-กลับ ๔ ชั่วโมง แปลว่า ผู้เขียนมีเวลานั่งนิ่งๆอยู่ในรถไฟวันละ ๔ ชั่วโมง และผู้เขียนเคยใช้เวลาเช่นนี้แต่งกาพย์กลอนเบ็ดเตล็ดมาแล้วอยู่เสมอ (แม้แต่หนังสือ โคลงโลกนิติฉบับถอดความ ที่ผู้เขียนจัดทำขึ้น ก็ใช้เวลาที่อยู่บนรถไฟนี่เอง เรียบเรียงบทถอดความเกือบทั้งหมด) ผู้เขียนจึงวางแผนใช้เวลาระหว่างเดินทางโดยรถไฟทุกวันนี่แหละแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด ตามประกาศิตจากสวรรค์

ผู้เขียนใช้เวลาเฉพาะที่อยู่ในรถไฟรวมแล้วประมาณ ๒ เดือนก็แต่งกาพย์เห่เรือเสร็จ และใช้เวลา “บ่มเพาะ” ตามเคล็ดลับของผู้เขียน คือทิ้งไว้จนลืม อีกประมาณ ๒ สัปดาห์ แล้วหยิบขึ้นมาอ่านใหม่ด้วยความรู้สึกของใครคนอื่นที่ไม่ใช่เราผู้แต่งเอง(เพราะในระหว่าง ๒ สัปดาห์นั้นเราลืมไปแล้วว่าเราแต่งไว้อย่างไรบ้าง) ก็พบข้อด้อยตรงนั้น ข้อบกพร่องตรงโน้น ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดทั้งเรื่อง เมื่อเสร็จสมบูรณ์ก็ส่งเข้าประกวดได้ทันเวลาพอดี และเมื่อส่งไปแล้วก็มิได้ติดใจรอผลแต่ประการใด นอกจากโล่งอกเหมือนยกภูเขาออกจากอก คิดว่าเป็นอันหมดธุระเสียที

เมื่อคณะกรรมการประกาศผลการตัดสินออกมาแล้ว ผู้เขียนจึงได้ทราบกรรมวิธีในการคัดเลือกและตัดสิน ซึ่งสมควรเล่าไว้ในที่นี้ด้วย

เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์รับบทประพันธ์กาพย์เห่เรือจากผู้ส่งเข้าประกวดซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๑๖๐ สำนวนแล้ว ก็ดำเนินการดังนี้

๑.ทำสำเนาส่งให้กรรมการทุกท่าน(กรรมการมี ๑๐ ท่าน) โดยตัดชื่อผู้แต่งออก ใส่หมายเลขลงไปแทน ให้กรรมการได้เห็นเฉพาะข้อความที่เป็นบทกาพย์เห่เรือเท่านั้น โดยวิธีนี้กรรมการจึงไม่มีทางทราบได้ว่ากาพย์เห่เรือสำนวนหมายเลขไหนเป็นของผู้ใดแต่ง

๒.ให้กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกบทประพันธ์ที่เห็นว่าดีที่สุดไว้ท่านละ ๑๕ สำนวน โดยวิธีนี้ บทประพันธ์ที่กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกไว้จึงมีทั้งที่ซ้ำกันและที่ไม่ซ้ำกันกับกรรมการท่านอื่นๆ

๓.ให้กรรมการแต่ละท่านนำบทประพันธ์สำนวนที่ตนคัดเลือกไว้ตามข้อ ๒ มาเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการ แล้วแถลงเหตุผลที่คัดเลือกสำนวนนั้นๆเพื่อให้ที่ประชุมรับฟังโดยทั่วถึงกัน เป็นทำนองสนับสนุนสำนวนที่ตนคัดเลือกว่า สำนวนนี้ดีอย่างนั้นๆ สำนวนนี้ดีอย่างนี้ๆ วิธีนี้ทำให้กรรมการแต่ละท่านมีโอกาสฟังเหตุผลของกันและกัน ทำให้เห็นมุมมองที่มีต่อบทประพันธ์สำนวนนั้นๆแตกต่างกันออกไป เพื่อเป็นข้อมูลในขั้นตอนต่อไป

๔.บทประพันธ์ที่กรรมการแต่ละท่านคัดเลือกไว้ และได้อภิปรายถึงข้อเด่นข้อด้อยของแต่ละสำนวนแล้วนั้น ให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาคัดเลือกให้เหลือเพียง ๑๐สำนวน สำนวนที่คัดเลือกไว้ในขั้นตอนนี้ ถือว่ามีคะแนนเป็นศูนย์เท่ากันหมด

๕.จากนั้นก็นำบทประพันธ์ทั้ง ๑๐ สำนวนตามข้อ ๔ มาอภิปรายกันอีกรอบหนึ่ง ว่าสำนวนไหนดีอย่างไร ด้อยอย่างไร แล้วให้กรรมการแต่ละท่านจัดลำดับ ว่าสำนวนไหนควรจะเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ไปตามลำดับ สำนวนที่ได้คะแนนรวมจากกรรมการมากที่สุดก็เป็นที่ ๑ รองลงไปก็เป็นที่ ๒ ที่ ๓ และเป็นรางวัลชมเชย

๖.เมื่อคัดเลือกจัดอันดับให้ครบถ้วนลงตัวหมดแล้ว จึงให้เปิดเผยชื่อผู้แต่ง และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน


เมื่อประกาศผลและเปิดเผยชื่อผู้แต่ง ปรากฏว่าสำนวนที่กรรมการทุกคนลงคะแนนตรงกันทั้งหมดว่าสมควรเป็นที่ ๑ นั้น ผู้แต่งชื่อ นาวาโท ทองย้อย แสงสินชัย ซึ่งเป็นบุคคลในกองทัพเรือ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นทำนองว่า กองทัพเรือเป็นผู้สร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ คนของกองทัพเรือก็ต้องชนะการประกวดกาพย์เห่เรือเป็นธรรมดา

ตอนแรกผู้เขียนก็รู้สึกเป็นทุกข์ไปกับคำวิพากษ์วิจารณ์ และรู้สึกว่าการได้รับรางวัลครั้งนั้นเป็นทุกขลาภอย่างยิ่ง แต่เมื่อทราบขั้นตอนการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็โล่งใจและสบายใจมาก

กรรมการที่ไปจากกองทัพเรือได้เล่าให้ผู้เขียนฟังในภายหลังว่า ระหว่างที่คณะกรรมการประชุมหารือคัดเลือกตัดสินกันอยู่นั้น ท่านอาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์(ท่านผู้นี้เป็นกวีซีไรท์ และเป็นศิลปินแห่งชาติ มีสรรพคุณปานไรไม่จำเป็นต้องสาธยาย) ๑ ใน ๑๐ ของคณะกรรมการ ได้เปรยกับกรรมการบางท่านว่า “ผมรู้แล้วว่า สำนวนนี้เป็นฝีปากใคร” แต่เมื่อเปิดตัวผู้แต่ง “สำนวนนี้”ออกมาจริงๆ ท่านก็สารภาพว่าท่านเดาผิดไปมาก เพราะเจ้าของฝีปากที่ท่านบอกว่า พออ่านก็รู้แล้วว่าเป็นใคร นั้นท่านบอกว่า ไม่ใช่คนนี้ แต่จะเป็นคนไหนที่ท่านเดาผิด ท่านก็ไม่ได้บอก

ผู้เขียนได้ฟังเรื่องนี้แล้วก็ยิ่งสบายใจ เพราะเห็นได้ชัดว่ากรรมการแต่ละท่านไม่มีทางรู้ได้เลยว่าบทประพันธ์สำนวนไหนเป็นของคนในกองทัพ หรือสำนวนไหนเป็นของใคร แม้แต่กวีซีไรท์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ที่เป็นมือพระกาฬในทางเสพและสร้างสรรค์สร้างสำนวนโวหาร ก็ยังเดาผิดไปไกล!

เมื่อกาพย์เห่เรือฉบับของผู้เขียนได้รับรางวัลชนะเลิศ ก็เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการของกองทัพเรืออีกโครงการหนึ่ง นั่นคือโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค กล่าวคือ เมื่อกาพย์เห่เรือ ฉบับชนะเลิศได้ประกาศเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีความคิดในบรรดาผู้รับผิดชอบโครงการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคว่า ควรใช้กาพย์เห่เรือฉบับนั้นเป็นบทเห่ แต่เนื่องจากกาพย์เห่เรือฉบับชนะการประกวดนั้นมีเพียงบทเดียว ไม่พอที่จะใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารคซึ่งต้องใช้กาพย์เห่เรือหลายบท จึงจำเป็นที่จะต้องมีกาพย์เห่เรือเพิ่มขึ้น และนั่นเองจึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนถูกประกาศิตจากสวรรค์ให้ต้องเป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรือเพิ่มเติมให้มีจำนวนเพียงพอแก่การใช้เห่

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังหรือความเป็นมา อันถือได้ว่าเป็น “ปฐมเหตุ” ของกาพย์เห่เรือ ที่เรียกกันสั้นๆว่า กาพย์เห่เรือ กาญจนาภิเษก

แต่ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังตัวจริงนั้น ก็คือผู้ที่สั่งให้ผู้เขียนแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด ทั้งๆที่ตอนนั้นผู้เขียน”ถอดใจ”ไปแล้ว ถ้าไม่มีท่านผู้นั้นเป็นคนสั่ง กาพย์เห่เรือของผู้เขียนก็คงไม่ได้เกิด จึงขออนุญาตเอ่ยนามของท่านผู้นั้นเพื่อเป็นประวัติศาสตร์ไว้ในทีนี้ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ท่านผู้นั้นก็คือ พลเรือโท อธิคม ฮุนตระกูล เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือในขณะนั้น(ยศครั้งสุดท้าย พลเรือเอก)

เมื่อตกลงว่าจะต้องแต่งกาพย์เห่เรือ กาญจนาภิเษกแน่นอนแล้ว ผู้เขียนมีแนวความคิดว่า เบื้องต้นควรจะต้องหารือกับพนักงานเห่เสียก่อน พอดีพนักงานเห่ในเวลานั้นก็คือ นาวาเอก มงคล แสงสว่าง(ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(คีตศิลป์) ประจำปี ๒๕๔๓, ต่อมาเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ทางราชการขอพระราชทานยศให้เป็น พลเรือตรี) ซึงอยู่ในกองทัพเรือด้วยกัน การติดต่อประสานงานปรึกษาหารือรายละเอียดต่างๆจึงสะดวกมาก

พนักงานเห่ให้ความเห็นว่า ความยาวของกาพย์เห่เรือคราวนี้ควรจะเป็น ๕ บท ไม่ควรมากหรือน้อยกว่านี้ ถ้าเกิดกรณีเห่หมดทั้ง ๕ บทแล้ว กระบวนเรือยังยาตราไม่ถึงวัด ก็จะเห่ซ้ำบทใดบทหนึ่ง เมื่อตกลงกันอย่างนี้ ผู้เขียนก็ลงมือศึกษากาพย์เห่เรือทั้งหมดที่เคยแต่งกันมาในแผ่นดินนี้ และมีความเห็นว่ากาพย์เห่เรือในอดีตเมื่อชมเรือแล้วก็มักชมปลาและชมนกชมไม้อันเป็นสภาพแวดล้อมจริงของยุคสมัยนั้น แต่สมัยนี้ตามเส้นทางที่กระบวนเรือจะยาตราไม่มีธรรมชาติเช่นนั้นจะให้ชื่นชม หากแต่งบรรยายตามแบบเก่าก็จะเป็นการเสแสร้งประดิษฐ์ผิดความจริงไป

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ จึงได้ตกลงใจกำหนดเนื้อความที่จะใช้บรรยายแต่ละบทดังนี้ คือ

ชมเรือกระบวนบทหนึ่ง เพราะกระบวนเรือเป็นของจริงที่ยังมีให้ชมได้

บรรยายถึงบุญกฐินบทหนึ่ง เนื่องจากกกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนี้ กำหนดขึ้นในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม

ชมเมืองบทหนึ่ง แต่ชมในแง่ประเพณีวัฒนธรรม ไม่ได้ชมตึกรามบ้านเรือนถนนหนทางอันเป็นวัตถุสมัยใหม่

สรรเสริญพระบารมีบทหนึ่ง อันนับว่าเป็นหัวใจของกาพย์เห่เรือ ปีกาญจาภิเษก เพราะจุดศูนย์รวมหรือองค์ประธานของงานนี้ก็คือองค์ระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อรวมเอากาพย์เห่เรือในโครงการสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ อีกบทหนึ่งเข้าไปแล้ว ก็จะครบ ๕ บทตามที่ต้องการ เมื่อได้กาพย์เห่เรือสมบูรณ์ทั้ง ๕ บทแล้ว ยังคงต้องประสาน-ปรึกษากับพนักงานเห่ต่อไปอีกในระหว่างฝึกซ้อม เพื่อปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่อาจจะเป็นข้อขัดข้อง ไม่สะดวก หรือไม่เหมาะสมอย่างใดอย่างหนึ่งในเวลาเห่ จนกระทั่งได้ถ้อยคำที่เหมาะเจาะลงตัวทุกกระบวนท่า เป็นที่พอใจทั้งของผู้แต่ง ของพนักงานเห่ และที่สำคัญคือ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคที่กองทัพเรือแต่งตั้งขึ้น.

กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก

กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค
เนื่องในมหามงคลวโรกาสทรงครองราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน
ณ วัดอรุณราชวราราม
วันที่ ๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๙

----------------------------------------
บทที่ ๑
ชมเรือกระบวน

ลอยลำสง่าแม้น มณีสวรรค์

หยาดโพยมณีเพียงหยัน ยั่วฟ้า

เหมราชผาดผายผัน โผนเผ่น นภาฤา

พายพะแพรวพายถ้า ถี่พร้อมผันผยอง

เรือเอยเรือที่นั่ง งามสะพรั่งเพียงหยาดสวรรค์

พิศองค์หงส์สุวรรณ เพียงผันผยองล่องลอยโพยม

บรรจงทรงผ้าไตร งามผ่องใสได้อวดโฉม

ศรัทธามาหลั่งโลม โน้มดวงจิตชิดชอบธรรม

นารายณ์ลงลอยล่อง งามผุดผ่องล่องลอยลำ

นาคราชผาดโผนนำ ภุชงค์ล้ำเผ่นโผนลอย

กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย

เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์

อสูรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสูรปักษิน

พายยกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน

เรือแซงแข่งเรือดั้ง พร้อมสะพรั่งเพราตา

เรือชัยไฉไลล้น ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา

ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย แลลวดลายล้วนเลขา

รูปสัตว์หยัดกายา พาโผนเผ่นเป็นทิวแถว

เรือน้อยลอยน้ำไหล ล้อมเรือใหญ่ไหววับแวว

พร่างพราวราวเพชรแพรว พายพลิ้วกวักพรักพร้อมพาย

งามริ้วทิวทางแถว ธงเพริศแพร้วแผ่วปลิวปลาย

งามเรือเหลือลวดลาย คล้ายเทพทิพย์หยิบลายผจง

อาภรณ์ผ้าแพรพรรณ สวยสีสันสวมทรวดทรง

พลพายพายเรือลง ทิวธงถ้วนล้วนเฉิดฉัน

เสนาะศัพท์ขับเพลงเห่ เสียงเสน่ห์น้ำสนั่น

เพลงทิพย์ไป่เทียมทัน กลั่นจากทรวงปวงนาวี

ศิลปกรรมล้ำเลิศเหลือ ลวดลายเรือล้วนโสภี

ท่อนไม้ไร้ชีวี มีชีวิตคิดเหมือนเป็น

นาวาสถาปัตย์ ช่างเชี่ยวชัดชาญเชิงเช่น

ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย

สมบูรณ์สมบัติชาติ ควรประกาศเกียรติเกริกไกร

ฝีมือลือเลิศใคร ไม่เทียบเทียมเยี่ยมนิยม

ควรสืบควรรักษา ควรคู่ค่าควรเมืองสม

ควรเชิดควรชื่นชม ควรภูมิใจไทยทั้งมวล

แม้นสิ้นจากถิ่นไทย ห่อนเห็นใครมาคู่ควร

แบบบทหมดกระบวน ล้วนเลิศแล้วแพรวพริ้งพราย

ขวัญเอยเป็นขวัญเนตร ศิลป์พิเศษยังสืบสาย

ลูกหลานวานอย่าวาย อย่าดูดายศรีแผ่นดิน

ฝากโลกให้รู้จัก ฝากศรีศักดิ์วิญญาณศิลป์

ฝากนามสยามินทร์ ฝากฝีมือชื่อไทยเอย

-------------------------------------------------
บทที่ ๒
บุญกฐิน

ผดุงธรรมเผด็จทุกข์ทั้ง แผ่นไผท

บังบาปเบิกบุญใบ บ่มสร้าง

หกรอบนักษัตรสมัย โสมนัส

เชิญเทพชุมชเยศอ้าง อรรถพร้องพรถวาย

เห่เอย เห่กฐิน บุญแผ่นดินถิ่นธรรมไทย

หอมบุญกรุ่นกลิ่นไกล จับหัวใจไม่จืดจาง

แต่งเอยแต่งผ้าไตร อรุณใสอุษาสาง

บรรจงลงระวาง เหนือแว่นฟ้าอ่าอำไพ

พิสุทธิ์พุทธศาสน์ พระประกาศมานานไกล

ถึงถิ่นแผ่นดินไทย ประจักษ์ในว่าสัจจริง

ทรงภพอุปภัมภก ทรงยอยกเป็นยอดยิ่ง

เผ่าไทยได้พักพิง จึงผุดผ่องผองภัยพาล

ร่มกาสาวพัสตร์ เฉกร่มฉัตรรุ่งเรืองฉาน

เป็นถิ่นแห่งศีลทาน ทุกหย่อมย่านจึงร่มเย็น

ดินแดนแห่งกาสาว์ คือสมญาโลกย่อมเห็น

ศีลธรรมที่บำเพ็ญ ช่วยดับเข็ญทุกคราวครัน

บัวบุญจึงเบ่งบาน อยู่กลางธารหทัยธรรม์

รอยยิ้มย่อมยืนยัน ถึงน้ำใจและไมตรี

บนไหว้พระไตรรัตน์ บำรุงศาสน์บำรุงศรี

วิหารลานเจดีย์ ล้วนรุ่งโรจน์โบสถ์ศาลา

พระแก้วอยู่เหนือเกล้า ทุกค่ำเช้าเฝ้าบูชา

สวดธรรมร่ำภาวนา ด้วยศรัทธาในศีลทาน

มาฆะ วิสาขะ อาสาฬหะ บูชากาล

ธูปเทียนเวียนทุกวาร ทุกถิ่นฐานทุกชั้นชน

พรรษาถือศีลสัตย์ ตั้งใจตัดอกุศล

สามเดือนเตือนใจตน ไม่หมองหม่นหมดเมามัว

หน้าเอย หน้ากฐิน ทุกท้องถิ่นบันเทิงทั่ว

เสียงเห่เสียงโห่รัว ทางรถเรือเหลือสำราญ

เห่เอย เห่กฐิน พระภูมินทร์หมายโพธิญาณ

ทรงสร้างทางศีลทาน ทรงเบิกบานดั่งบัวบุญ

บุญเอยบุญกฐิน ผ่องโสภินด้วยพุทธคุณ

พระธรรมล้ำอดุลย์ ช่วยค้ำจุนอบรมใจ

พระสงฆ์ทรงศีลา เป็นเนื้อนาทักษิไณย

คุณพระรัตนตรัย อำนวยชัยองค์ราชัน

หกรอบพระนักษัตร โสมนัสน้อมภิวันท์

ปวงบวงแต่ปางบรรพ์ เป็นฉัตรกั้นจักรีวงศ์

เทพไทถวายทิพย์ พรเลิศลิบลุประสงค์

เกษมสุขทุกพระองค์ ขอจงทรงพระเจริญเทอญ

---------------------------------------

บทที่ ๓
ชมเมือง

สยามเอยอุโฆษครื้น คุณขจร

สุขสถิตสถาพร ผ่านฟ้า

ไตรรงค์ลิ่วลมสลอน อวดโลก

ตราบเมื่อนี้เมื่อหน้า เมื่อโน้นนิรันดร์เกษม

สยามเอย สยามรัฐ งามร่มฉัตรทัดเทียมโพยม

กิตติศัพท์ขับประโคม โครมครืนครั่นลั่นหล้าคง

สุโขทัยไกลสุด ถึงอยุธยายง

ธนบุรีลอยฟ้าลง ทรงศักดิ์ฟื้นคืนคุณขจร

รัตนโกสินทร์ศิลป์ สืบระบิลอันบวร

แม่นแม้นแดนอมร ถอนจากฟ้ามาเมืองดิน

เจ้าเอย เจ้าพระยา ถั่งธารามาเรื่อยริน

ทวยไทยได้อาบกิน ลินลาลุ่มขุมกำลัง

งามเอย งามระยับ แวววาววับวัดเวียงวัง

ย่ำค่ำย่ำระฆัง วังเวงหวานซ่านซึ้งเสียง

เจดีย์ศรีสูงเหยียด เสียดยอดท้าฟ้ารายเรียง

ปรางค์ยอดทอดเงาเคียง เลี้ยงตาเมืองเรื้องเรืองรมย์

พืชพันธุ์ธัญญาผล เลี้ยงชีพชนลอุดม

นาสวนชวนชื่มชม ร่มรื่นไม้ไพรพฤกษ์มี

รอยยิ้มพิมพ์ใจสวย ชนรุ่มรวยด้วยไมตรี

เสน่ห์ประเพณี ศรีสง่ามาเนิ่นนาน

ถึงยุคทนทุกข์ยาก กายลำบากใจเบิกบาน

เศรษฐกิจเกือบพิการ ยังสู้งานไม่งกงัน

ศาสนาสถาพร ประชากรเกษมสันต์

ร่มธรรมฉ่ำชีวัน ฟั้นฝึกใจใฝ่ความดี

ราชันขวัญสยาม ปิ่นเพชรงามปักธานี

ร่มพระบารมี ศรีไผทฉัตรชัยชน

ไตรรงค์ธงชัยโชค ลอยอวดโลกโบกลมบน

ขวัญฟ้าขวัญตายล ล้นเลิศหลักศักดิ์ศรีสยาม

เมื่อนี้ตราบเมื่อหน้า คงคู่หล้ากล้าเกียรติงาม

ใครบุกรุกเขตคาม ตามหาญหักรักษ์แผ่นดิน

ฟ้าเอย ฟ้าสยาม งามกว่าฟ้าทุกธานินทร์

เพลงสยามทุกยามยิน วิญญาณปลื้มดื่มด่ำเอย

----------------------------------------------

บทที่ ๔
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙

นารายณ์เรืองฤทธิ์ล้ำ เลอหน หาวแฮ

ทรงสุบรรณบินบน โบกฟ้า

พ่างเพียงพระภูมิพล อดุลยเดช

ทรงเทิดทศธรรมหล้า แหล่งล้วนแรงเกษม

เรือเอย เรือที่นั่ง งามสะพรั่งอยู่พร้อมเพรียง

ลอยลำมารายเรียง แลสล้างกลางสายสินธุ์

นารายณ์ทรงสุบรรณ ช่างเฉิดฉันงามเฉิดฉิน

โผนเผ่นเช่นครุฑบิน ลินลาศคล้อยลอยหาวหน

รูปครุฑยุดนาคหิ้ว ปานจะลิ่วปลิวลมบน

พายกวักพรักพร้อมพล เพียงปีกกล้ากวักฟ้าไกล

งามเอย งามสง่า เหมือนหยาดฟ้ามายาใจ

กาญจนาภิเษกสมัย ทวยเทพไทถวายพระพร

พระเอย พระภูมินทร์ ร่มฟ้าดินทุกแดนดอน

เพราะธรรมแห่งภูธร ที่ทรงธารซึ่งถิ่นไทย

เป็น”พลังแห่งโลกหล้า” สมสมญาอันยิ่งใหญ่

เดือนปีที่เป็นไป คือปีทิพย์ไท้ท่านคุ้มครอง

ปีทิพย์คือปีธรรม ประพฤตินำสุขเนืองนอง

ปีธรรมคือปีทอง ไทยทั้งผองผาสุกสม

ห้าสิบปีที่ทรงราชย์ ประชาชาติประชันชม

สยามรัฐสวัสดิ์รมย์ ด้วยศูนย์รวมอันร่มเย็น

ยามใดที่ไทยเดือด ถึงหลั่งเลือดด้วยร้อนเข็ญ

ทรงดับให้กลับเย็น ที่แก่งแย่งกลับนิยม

ยามภัยพิบัติเบียน จำจนเจียนจวนจ่อมจน

ทรงเสกชีวิตซม ให้กลับฟื้นขึ้นยืนตน

ถิ่นโหยระหายหิว ที่เหือดแห้งทุกแห่งหน

ย่อมชื้นด้วยหยาดชล ที่ทรงชุบให้ฉ่ำทรวง

คือธารเมตตาธรรม อันลึกล้ำทะเลหลวง

เอิบอาบกำซาบปวง ทุกลมปราณด้วยปรานี

แผ่ผายข่ายการุณย์ เบิกบัวบุญพระบารมี

คุ้มครองป้องธาตรี ให้บานชื่นรื่นเริงชนม์

ทศธรรมล้ำสถิต ทศทิศไร้ทุกข์ทน

พระเดชอดุลย์ดล ทั้งสากลจึงเกริกไกร

นารายณ์ทรงสุบรรณ เผ่นผายพันผลาญพาลภัย

เฉกองค์พระทรงชัย ทรงครองไทยด้วยทรงธรรม์

แรงรักแห่งทวยราษฎร์ ประหนึ่งภาชน์สุพรรณพรรณ

เอ่ยวากย์ถวายวัณณ์ คือโกสุมอันโสภา

ศีลสัตย์คือสายสร้อย บรรจงร้อยเป็นมาลา

ถวายแทบพระบาทา บูชาคุณพระจอมคน

จงพระเสวยสวัสดิ์ พูนพิพัฒน์ผองศุภผล

พระหทัยไกลกังวล ทุกทิพาราตรีกาล

พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ แม้สรรเพชญโพธิญาณ

ดำรงรัชย์ชัชวาล ดั่งเวียงสรรค์นิรันดร์เทอญฯ

--------------------------------------


บทที่ ๕


สรรเสริญพระบารมี


ยอกรเหนือเกศก้ม                กราบยุคล
แทบบาทองค์ภูมิพล            ผ่านฟ้า
กาญจนาภิเษกนุสนธิ์          เสวยราชย์

ฉลองครบห้าสิบ หล้า         แหล่งล้วนสรรเสริญ 

ยอกรขึ้นเหนือเกศ            กราบบทเรศองค์ภูมิพล


ครองราชย์สวัสดิมงคล      ห้าสิบปีศรีแผ่นดิน                                  

บันเทิงทั่วถิ่นไทย                ร้อยดวงใจทุกดวงจินต์


ร้อยถ้อยร้อยวาทิน              ร้อยความรักภักดีถวาย


พระเอยพระทรงภพ           พระคุณจบขจรขจาย

คือฟ้าตาวันฉาย                  และคืนผ่องด้วยเดือนเพ็ญ               

หัตถ์ทิพย์แห่งท่านไท้        กำจัดไข้กำจัดเข็ญ

ถอนทุกข์ขุกลำเค็ญ            เย็นทั่วหน้าห้าสิบฉนำ


แผ่นดินที่ทรงครอง              แผ่นดินทองแผ่นดินธรรม


คราวเข็ญเข้าครอบงำ           ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน


 เหน็ดเหนื่อยนั้นหนักนัก     ทรงงานหนักอเนกอนันต์


วันพักเพียงสักวัน                 ก็แสนน้อยดูนานเกิน


วังทิพย์คือท้องทุ่ง                ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน


ร้อนหนาวในราวเนิน           มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์

ย่างพระบาทที่ยาตรา           ยาวรอบหล้าฟ้าสากล

พระเสโทที่ถั่งท้น               ถ้าไหลรวมคงท่วมธาร


จอมเอยจอมทัพไทย          คือธงชัยแห่งทวยหาญ

ทรงธรรมนำวิญญาณ        เผด็จทุกข์แผ่นดินไทย
 
 บดบังอบายบาป                   ธารธรรมอาบบ่มบุญใบ


กาญจนาภิเษกสมัย               โสมนัสทั่วธรณี


ปลื้มเอยปลื้มเปรมสม          วันอุดมฤกษ์งามดี


วันสุขมงคลศรี                      วันประเสริฐพิสุทธิ์ใส


หัวใจไทยทั้งชาติ                  ไม่เคยขาดพระคุณไข


อุ่นเกล้าทั้งใกล้ไกล              อิ่มเอมใจสุขกำจาย


พระผินพระพักตร์ผัน          ที่ร้อนพลันละลายหาย


พระแย้มพระสรวลพราย     ทุกข์ทลายไม่เหลือไร


ยามเหนื่อยกับชีพนี้              พระบารมีเหมือนเกิดใหม่


ยามหมองไม่อำไพ              เหมือนแสงสว่างกระจ่างมน


พระเสด็จสดับทุกข์             ขุกเข็ญหายไปทุกหน


พระเหนื่อยหนักอนนต์       ทรงทุกข์ทนเพื่อทวยไทย


ข้าเจ้าเหล่านาวิน                  ข้าแผ่นดินสำนึกใน


ขอถวายพระพรชัย               แด่จอมไทยปิ่นธรณี


 เดชะพระไตรรัตน์               พระปรมัตถบารมี


เทวาทุกราศี                           อัญเชิญช่วยอวยชัยถวาย


ขอจงทรงพระเจริญ             พระชนม์เกินร้อยปีปลาย


อาพาธพินาศหาย                  ผองพาลพ่ายแพ้บุญใบ


จงพระเสวยสวัสดิ์               พูนพิพัฒน์ปราบมารภัย


ผ่องแผ้วพระหฤทัย             ทุกทิพาราตรีกาล


พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ    แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ

ดำรงรัชย์ชัชวาล                   ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
(ผู้ประพันธ์)

Saturday, October 24, 2009

ถึงปีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

ครั้นถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ กองทัพเรือก็ได้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อเฉลิมพระเกียรติอีกครั้งหนึ่ง ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม กำหนดวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒

ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้แต่งกาพย์เห่เรือเพื่อใช้ในการนี้อีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่า การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนี้กับคราวกาญจนาภิเษกมีลักษณะไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ ปรารภองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวกัน และจัดในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเช่นเดียวกัน ข้อแตกต่างมีเพียงว่า คราวก่อนเป็นปีกาญจนาภิเษก คราวนี้เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

ผู้เขียนจึงได้นำกาพย์เห่เรือในคราวกาญจนาภิเษกมาปรับปรุงให้เข้ากับเหตุการณ์ เพื่อใช้เห่ในคราวนี้ แต่เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม คือ บทที่ ๑ ชมกระบวนเรือ บทที่ ๒ บุญกฐิน บทที่ ๓ ชมเมือง ทั้ง ๓ บทนี้มีเนื้อความเกือบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งที่จะยกขึ้นมาพรรณนาได้นั้น มีเรื่องราวเค้าความคงที่ลงตัวอยู่แล้ว และตามแบบลีลาของกาพย์เห่เรือและกรอบของงานที่จัดขึ้น คือ จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินนั้น ถ้าหยิบยกเอาเรื่องราวตามหัวข้อทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้นขึ้นมาพรรณนา ผู้เขียนก็ยังนึกไม่ออกว่ามีหัวข้ออะไรที่จะเหมาะสมกว่านี้ ส่วนบทที่ ๔ ก็เป็นบทสรรเสริญพระบารมี เช่นเดียวกับปีกาญจนาภิเษก เพียงแต่ปรับเปลี่ยนถ้อยคำให้หมายถึงวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ก็เป็นอันสำเร็จเรียบร้อย

ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ได้จากคราวกาญจนาภิเษกก็คือ กาพย์เห่เรือที่เตรียมไว้ถึง ๕ บทนั้น เมื่อใช้เห่เข้าจริงๆเห่ไปเพียง ๒ หรือ ๓ บท กระบวนเรือก็ถึงวัดแล้ว คราวนี้เตรียมกาพย์เห่เรือไว้ ๔ บท จึงน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องกาพย์ไม่พอเห่แต่อย่างใด.

กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ

กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ
๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม
วันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๒

---------------------------------

บทที่ ๑
ชมเรือกระบวน

ลอยลำสง่าแม้น มณีสวรรค์
หยาดโพยมณีเพียงหยัน ยั่วฟ้า
เหมราชผาดผายผัน โผนเผ่น นภาฤา
พายพะแพรวพายถ้า ถี่พร้อมผันผยอง

เรือเอยเรือที่นั่ง งามสะพรั่งเพียงหยาดสวรรค์
พิศองค์หงส์สุวรรณ เพียงผันผยองล่องลอยโพยม
บรรจงทรงผ้าไตร งามผ่องใสได้อวดโฉม
ศรัทธามาหลั่งโลม โน้มดวงจิตชิดชอบธรรม
นารายณ์ลงลอยล่อง งามผุดผ่องล่องลอยลำ
นาคราชผาดโผนนำ ภุชงค์ล้ำเผ่นโผนลอย
กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย
เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุดนาคคล้อยลอยเมฆินทร์
อสูรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสูรปักษิน
พายยกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน
เรือแซงแข่งเรือดั้ง พร้อมสะพรั่งเพราตา
เรือชัยไฉไลล้น ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา
ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย แลลวดลายล้วนเลขา
รูปสัตว์หยัดกายา พาโผนเผ่นเป็นทิวแถว
เรือน้อยลอยน้ำไหล ล้อมเรือใหญ่ไหววับแวว
พร่างพราวราวเพชรแพรว พายพลิ้วกวักพรักพร้อมพาย
งามริ้วทิวทางแถว ธงเพริศแพร้วแผ่วปลิวปลาย
งามเรือเหลือลวดลาย คล้ายเทพทิพย์หยิบลายผจง
อาภรณ์ผ้าแพรพรรณ สวยสีสรรสวมทรวดทรง
พลพายพายเรือลง ทิซธงถ้วนล้วนเฉิดฉัน
เสนาะศัพท์ขับเพลงเห่ เสียงเสน่ห์น้ำสนั่น
เพลงทิพย์ไป่เทียมทัน กลั่นจากทรวงปวงนาวี
ศิลปกรรมล้ำเลิศเหลือ ลวดลายเรือล้วนโสภี
ท่อนไม้ไร้ชีวี มีชีวิตคิดเหมือนเป็น
นาวาสถาปัตย์ ช่างเชี่ยวชัดชาญเชิงเช่น
ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย
สมบูรณ์สมบัติชาติ ควรประกาศเกียรติเกริกไกร
ฝีมือลือเลิศใคร ไม่เทียบเทียมเยี่ยมนิยม
ควรสืบควรรักษา ควรคู่ค่าควรเมืองสม
ควรเชิดควรชื่นชม ควรภูมิใจไทยทั้งมวล
แม้นสิ้นจากถิ่นไทย ห่อนเห็นใครมาคู่ควร
แบบบทหมดกระบวน ล้วนเลิศแล้วแพรวพริ้งพราย
ขวัญเอยเป็นขวัญเนตร ศิลป์พิเศษยังสืบสาย
ลูกหลานวานอย่าวาย อย่าดูดายศรีแผ่นดิน
ฝากโลกให้รู้จัก ฝากศรีศักดิ์วิญญาณศิลป์
ฝากนามสยามินทร์ ฝากฝีมือชื่อไทยเอย

-------------------------------------------------
บทที่ ๒
บุญกฐิน
ผดุงธรรมเผด็จทุกข์ทั้ง แผ่นไผท
บังบาปเบิกบุญใบ บ่มสร้าง
หกรอบนักษัตรสมัย โสมนัส
เชิญเทพชุมชเยศอ้าง อรรถพร้องพรถวาย

เห่เอย เห่กฐิน บุญแผ่นดินถิ่นธรรมไทย
หอมบุญกรุ่นกลิ่นไกล จับหัวใจไม่จืดจาง
แต่งเอยแต่งผ้าไตร อรุณใสอุษาสาง
บรรจงลงระวาง เหนือแว่นฟ้าอ่าอำไพ
พิสุทธิ์พุทธศาสน์ พระประกาศมานานไกล
ถึงถิ่นแผ่นดินไทย ประจักษ์ในว่าสัจจริง
ทรงภพอุปภัมภก ทรงยอยกเป็นยอดยิ่ง
เผ่าไทยได้พักพิง จึงผุดผ่องผองภัยพาล
ร่มกาสาวพัสตร์ เฉกร่มฉัตรรุ่งเรืองฉาน
เป็นถิ่นแห่งศีลทาน ทุกหย่อมย่านจึงร่มเย็น
ดินแดนแห่งกาสาว์ คือสมญาโลกย่อมเห็น
ศีลธรรมที่บำเพ็ญ ช่วยดับเข็ญทุกคราวครัน
บัวบุญจึงเบ่งบาน อยู่กลางธารหทัยธรรม์
รอยยิ้มย่อมยืนยัน ถึงน้ำใจและไมตรี
บนไหว้พระไตรรัตน์ บำรุงศาสน์บำรุงศรี
วิหารลานเจดีย์ ล้วนรุ่งโรจน์โบสถ์ศาลา
พระแก้วอยู่เหนือเกล้า ทุกค่ำเช้าเฝ้าบูชา
สวดธรรมร่ำภาวนา ด้วยศรัทธาในศีลทาน
มาฆะ วิสาขะ อาสาฬหะ บูชากาล
ธูปเทียนเวียนทุกวาร ทุกถิ่นฐานทุกชั้นชน
พรรษาถือศีลสัตย์ ตั้งใจตัดอกุศล
สามเดือนเตือนใจตน ไม่หมองหม่นหมดเมามัว
หน้าเอย หน้ากฐิน ทุกท้องถิ่นบันเทิงทั่ว
เสียงเห่เสียงโห่รัว ทางรถเรือเหลือสำราญ
เห่เอย เห่กฐิน พระภูมินทร์มหายโพธิญาณ
ทรงสร้างทางศีลทาน ทรงเบิกบานดั่งบัวบุญ
บุญเอยบุญกฐิน ผ่องโสภินด้วยพุทธคุณ
พระธรรมล้ำอดุลย์ ช่วยค้ำจุนอบรมใจ
พระสงฆ์ทรงศีลา เป็นเนื้อนาทักษิไณย
คุณพระรัตนตรัย อำนวยชัยองค์ราชัน
หกรอบพระนักษัตร โสมนัสน้อมภิวันท์
ปวงบวงแต่ปางบรรพ์ เป็นฉัตรกั้นจักรีวงศ์
เทพไทถวายทิพย์ พรเลิศลิบลุประสงค์
เกษมสุขทุกพระองค์ ขอจงทรงพระเจริญเทอญ

---------------------------------------

บทที่ ๓
ชมเมือง

สยามเอยอุโฆษครื้น คุณขจร
สุขสถิตสถาพร ผ่านฟ้า
ไตรรงค์ลิ่วลมสลอน อวดโลก
ตราบเมื่อนี้เมื่อหน้า เมื่อโน้นนิรันดร์เกษม

สยามเอย สยามรัฐ งามร่มฉัตรทัดเทียมโพยม
กิตติศัพท์ขับประโคม โครมครืนครั่นลั่นหล้าคง
สุโขทัยไกลสุด ถึงอยุธยายง
ธนบุรีลอยฟ้าลง ทรงศักดิ์ฟื้นคืนคุณขจร
รัตนโกสินทร์ศิลป์ สืบระบิลอันบวร
แม่นแม้นแดนอมร ถอนจากฟ้ามาเมืองดิน
เจ้าเอย เจ้าพระยา ถั่งธารามาเรื่อยริน
ทวยไทยได้อาบกิน ลินลาลุ่มขุมกำลัง
งามเอย งามระยับ แวววาววับวัดเวียงวัง
ย่ำค่ำย่ำระฆัง วังเวงหวานซ่านซึ้งเสียง
เจดีย์ศรีสูงเหยียด เสียดยอดท้าฟ้ารายเรียง
ปรางค์ยอดทอดเงาเคียง เลี้ยงตาเมืองเรื้องเรืองรมย์
พืชพันธ์ธญญาผล เลี้ยงชีพชนดลุดม
นาสวนชวนชื่มชม ร่มรื่นไม้ไพรพฤกษ์มี
รอยยิ้มพิมพ์ใจสวย ชนรุ่มรวยด้วยไมตรี
เสน่ห์ประเพณี ศรีสง่ามาเนิ่นนาน
ถึงยุคทนทุกข์ยาก กายลำบากใจเบิกบาน
เศรษฐกิจเกือบพิการ ยังสู้งานไม่งกงัน
ศาสนาสถาพร ประชากรเกษมสันต์
ร่มธรรมฉ่ำชีวัน ฟั้นฝึกใจใฝ่ความดี
ราชันขวัญสยาม ปิ่นเพชรงามปักธานี
ร่มพระบารมี ศรีไผทฉัตรชัยชน
ไตรรงค์ธงชัยโชค ลอยอวดโลกโบกลมบน
ขวัญฟ้าขวัญตายล ล้นเลิศหลักศักดิ์ศรีสยาม
เมื่อนี้ตราบเมื่อหน้า คงคู่หล้ากล้าเกียรติงาม
ใครบุกรุกเขตคาม ตามหาญหักรักษ์แผ่นดิน
ฟ้าเอย ฟ้าสยาม งามกว่าฟ้าทุกธานินทร์
เพลงสยามทุกยามยิน วิญญาณปลื้มดื่มด่ำเอย

----------------------------------------------
บทที่ ๔
สรรเสริญพระบารมี

ยอกรเหนือเกศก้ม กราบยุคล
แทบบาทองค์ภูมิพล ผ่านฟ้า
หกรอบนักษัตรนุสนธ์ สมโภช
บุญบพิตรผดุงหล้า โลกล้วนสรรเสริญ

ยอกรขึ้นเหนือเกศ กราบบทเรศองค์ภูมิพล
หกรอบนักกษัตรดล เป็นมงคลแห่งแผ่นดิน
บันเทิงทั่งถิ่นไทย ร้อยดวงใจทุกดวงจินต์
ร้อยถ้อยร้อยวาทิน ร้อยความรักภักดีถวาย
พระเอยพระทรงภพ พระคุณจบขจรขจาย
คือฟ้าตาวันฉาย และคืนผ่องด้วยเดือนเพ็ญ
หัตถ์ทิพย์แห่งท่านไท้ กำจัดไข้กำจัดเข็ญ
ถอนทุข์ขุกลำเค็ญ เย็นถ้วนหน้ามาทุกฉนำ
แผ่นดินที่ทรงครอง แผ่นดินทองแผ่นดินธรรม
คราวเข็ญเข้าครอบงำ ทรงดับเข็ญทุกคราวครัน
เหน็ดเหนื่ยนั้นหนักนัก ทรงงานหนักอเนกอนันต์
วันพักเพียงสักวัน ก็แสนน้อยดูนานเกิน
วังทิพย์คือท้องทุ่ง ม่านงามรุ้งคือเขาเขิน
ร้อนหนาวในราวเนิน มาโลมไล้ต่างรสสุคนธ์
ย่างพระบาทที่ยาตรา ยาวรอบหล้าฟ้าสากล
พระเสโทที่ถั่งทน ถ้าไหลรวมคงท่วมไทย

เป็น"พลังแห่งโลกหล้า" สมสมญาอังยิ่งใหญ่
เดือนปีที่เป็นไป คือทิพย์ไท้ท่านคุ้มครอง
ปีทิพย์คือปีธรรม ประพฤตินำสุขเนืองนอง
ปีธรรมคือปีทอง ไทยทั้งผองผาสุกสม
ยามภัยพิบัติเบียน จำจนเจียนจวนจ่อมจม
ทรงเสกชีวิตตรม ให้กลับฟื้นขึ้นยืนตน
ถิ่นโหยระหายหิว ที่เหือดแห้งทุกแห่งหน
ย่อมชื้นด้วยหยาดชล ที่ทรงชุบให้ฉ่ำทรวง
คือธารเมตตาธรรม อันลึกล้ำทะเลหลวง
เอิบอาบกำซาบปวง ทุกลมปราณด้วยปรานี
แผ่ผายข่าการุณย์ เบิกบัวบุญพระบารมี
คุ้มครองป้องธาตรี ให้บานชื่นรื่นเริงรมณ์
ทศธรรมล้ำสถิต ทศทิศไร้ทุกข์ทน
พระเดชอดุลย์ดล ทั้งสากลจึงเกริกไกร
ข้าเจ้าเหล่านาวิน ข้าแผ่นดินสำนึกใน
ขอถวายพระพรชัย แต่จอมไทยปิ่นธรณี
เดชะพระไตรรัตน์ พระปรมัตถบารมี
เทวาทุกราศี อัญเชิญช่วยอวยชัยถวาย
ขอจงทรงพระเจริญ พระชนม์เกินร้อยปีปลาย
อาพาธพินาศหาย ผองพาลพ่ายแพ้บุญใบ
จงพระเสวยสวัสดิ์ พูนพิพัฒน์ปราบมารภัย
ผ่องแผ้วพระหฤทัย ทุกทิพาราตรีกาล
พระประสงค์ทุกสิ่งเสร็จ แม้สรรเพชญพระโพธิญาณ
ดำรงรัชย์ชัชวาล ดั่งเวียงสวรรค์นิรันดร์เทอญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
(ผู้ประพันธ์)

และถึงงานประชุมเอเปค

เมื่อปี ๒๕๔๖ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจแห่งเอเชียและแปซิฟิค หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า เอเปค ในงานนี้รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคให้ผู้นำประเทศต่างๆ และแขกเมืองที่เข้ามาปฏิบัติงานในโอกาสนั้นได้ชม กองทัพเรือก็แต่งตั้งกรรมการเตรียมการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้นมารับผิดชอบตามขั้นตอนและวิธีการที่เคยปฏิบัติมาทุกครั้ง และคราวนี้ผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งกาพย์เห่เรืออีกเช่นเคย กำหนดแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๖

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนั้นต้องถือว่าเป็น”การแสดง”อย่างแท้จริง เพราะว่ากระบวนพยุหยาตรา ไม่ว่าจะเป็นชลมารค(ทางน้ำ) หรือ สถลมารค(ทางบก) เท่าที่เคยจัดกันมานั้นมักจะเป็นพระราชพิธี กล่าวคือจะต้องจัดขึ้นในงานพระราชพิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีพระราชโองการให้จัดขึ้นเพื่อการใดกรหนึ่งที่จัดขึ้นเป็นพระราชพิธีและรู้จักกันอยู่ทั่วไปก็คือ กระบวนพยุหยาตราชลมารคในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ที่เป็นการอื่นจากนี้ไม่ค่อยปรากฏ

พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ กระบวนพยุหยาตรานั้นจัดขึ้นในโอกาสที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินจากที่หนึ่งไปยังที่ใดที่หนึ่ง คือพระเจ้าแผ่นดินไปในกระบวนด้วย แต่กระบวนพยุหยาตราชลมารคที่จัดขึ้นในโอกาสประชุมเอเปคนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จอยู่ในกระบวนแต่ประการใด จึงเป็นเพียง”การแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารค” เท่านั้น

อีกประการหนึ่ง กระบวนพยุหยาตราชลมารคเท่าที่เคยจัดขึ้นนั้นจัดในเวลากลางวัน(เพราะตามธรรมดา การเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคนั้นทำในเวลากลางวันย่อมสะดวกกว่ากลางคืน) แต่การแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคในโอกาสประชุมเอเปคคราวนั้นทำในเวลากลางคืน ซึ่งนับว่าผิดแผกไปกว่าทุกคราว แต่ต้องกล่าวว่าเป็นการแปลกไปในทางที่ดี คือทำให้ได้เห็นสีสันอันสวยงามของกระบวนเรือท่ามกลางแสงไฟในยามราตรี อันเป็นภาพที่เราไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน

เมื่อกระบวนพยุหยาตราชลมารคคราวนั้นเป็นการแสดง เวลาใช้ในการแสดงและรายละเอียดต่างๆก็สามารถกำหนดขึ้นและกำกับให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ทุกประการ ผู้เขียนได้รับแจ้งข้อมูลว่า เวลาที่ใช้ในการแสดงไม่มากนัก เพราะฉะนั้น กาพย์เห่เรือที่จะใช้ก็ไม่ต้องยาวมาก ผู้เขียนจึงเตรียมกาพย์เห่เรือไว้เพียง ๒ บท คือ ชมกระบวนเรือ บทหนึ่ง และ ชมเมือง อีกบทหนึ่ง(ในเวลาเห่จริงทราบว่าใช้กาพย์เห่เรือเพิ่มอีกบทหนึ่งซึ่งมีผู้ระบุว่าเป็นของท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติผู้สูงทั้งวัยวุฒิ เรื่องนี้ผู้เขียนไม่ทราบมาก่อน และเมื่อได้ทราบเข้าก็รู้สึกตกใจมาก ถ้าทราบว่าจะใช้กาพย์เห่เรือฝีปากท่านอาจารย์มนตรี ตราโมท ด้วยผู้เขียนซึ่งเป็นเพียงหิ่งห้อยจะไม่บังอาจไปทาบรัศมีกับดวงอาทิตย์เช่นนั้นเลย)

ในกาพ์เห่เรือเอเปค มีอยู่บทหนึ่งที่มีคนจำกันได้มาก และมีผู้ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ กล่าวตามสำนวนนักเขียนก็ว่าเป็น”วรรคทอง” ของกาพย์เห่เรือเอเปค คือบทที่ว่า

เทคโนอาจน้อยหน้า แต่ข้าวปลาไม่ขัดสน
สินทรัพย์อาจอับจน แต่ใจคนไม่จนใจ

ความจริงแล้วยังมีอีกบทหนึ่งซึ่งผู้เขียนเองชอบมากกว่าบทนี้ นั่นคือบทต่อไปที่ว่า
บ้านเรือนไม่หรูหรา แต่สูงค่าปัญญาไทย
หนทางอาจห่างไกล แต่หัวใจใกล้ชิดกัน

สองวรรคแรกหมายความว่า บ้านช่องเรือนชานตามแบบของไทยแท้ๆนั้นอาจจะไม่หรูหราโอ่อ่าเหมือนบ้านฝรั่ง แต่ก็มีคุณค่าสูงในความรู้สึกของเรา มันเหมาะกับภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศเรา และเรามิได้ลอกเลียนเอามาจากใคร หากแต่เป็นภูมปัญญาของไทยเราเอง

ส่วนสองวรรคหลังมีความหมายว่า ถนนหนทางในบ้านเมืองเราอาจจะยังไม่ดี อาจจะทำให้รู้สึกว่ากว่าจะไปมาถึงกันได้ช่างไกลเหลือเกิน แต่หัวใจของคนไทยนั้นเรารักใคร่ใกล้ชิดสนินสนมกันอย่างยิ่ง หนทางที่ห่างไกลหาได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดไม่
อีกนัยหนึ่งก็มีความหมายว่า แขกบ้านแขกเมืองที่มากันคราวนี้เดินทางมาไกล บ้านเมืองอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน แต่ไมตรีจิตมิตรภาพที่เรามีต่อกัน ที่ออกมาจากใจจริงของเรานั้นก็ทำให้เราใกล้ชิดกันได้ จึงว่า หนทางอาจห่างไกล แต่หัวใจใกล้ชิดกัน.

กาพย์เห่เรือเอเปค

กองทัพเรือจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค

ในโอกาสประชุมเอเปคในประเทศไทย

พุทธศักราช ๒๕๔๖

บทที่ ๑

ชมเรือ



ลอยลำงามสง่าแม้น มณีสวรรค์

หยาดโพยมเพียงหยัน ยั่วฟ้า

สายชลชุ่มฉ่ำฉัน เฉกทิพย์ ธารฤา

ไหลหลั่งโลมแหล่งหล้า หล่อเลี้ยงแรงเกษม


เรือเอยเรือพระที่นั่ง พิศสะพรั่งกลางสายชล

ลอยลำงามสง่ายล หยาดจากฟ้ามาโลมดิน

สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

อวดโฉมโสมโสภิน ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

นารายณ์ทรงสุบรรณ ดังเทพสรรเสกงามสม

ปีกป้องล่องลอยลม ดุจเลื่อนฟ้ามาล่องลอย

กระบี่ศรีสง่า งามท่วงท่าไม่ท้อถอย

เรือครุฑไม่หยุดคอย ยุคนาคคล้อยลอยเมฆินทร์

อสุรวายุภักษ์ ศักดิ์ศรีคู่อสุรปักษิน

พายยกเพียงนกบิน ผินสู่ฟ้าร่าเริงบน

เรือแซงแข่งเรือดั้ง พร้อมสะพรั่งกลางสายชล

เรือชัยไฉไลล้น ยลเรือกิ่งพริ้งเพราตา

ยักษ์ลิงกลิ้งกลอกกาย แลลวดลายล้วนเลขา

รูปสัตว์หยัดกายา พาโผนเผ่นเป็นทิวธาร

นาวาสถาปัตย์ เชิงช่างชัดเชี่ยวชาญฉาน

ท่อนไม้ไร้วิญญาณ ท่านเสกสร้างเหมือนอย่างเป็น

ฝีมือลือสามโลก ดับทุกข์โศกคลายเคืองเข็ญ

ยิ่งยลยิ่งเยือกเย็น เห็นสายศิลป์วิญญาณไทย

เจ้าเอยเจ้าพระยา ถั่งธารามานานไกล

เอิบอาบกำซาบใจ หล่อเลี้ยงไทยแผ่นดินทอง

รวงทองเหลืองท้องทุ้ง แดดทอรุ้งเหนือเขื่อนคลอง

ข้าวปลามาเนืองนอง เรือขึ้นล่องล้วนเริงแรง

วัดวาทุกอาวาส พุทธศาสน์ธรรมทอแสง

น้ำใจจึงไหลแรง ไม่เคยแล้งจากใจไทย

เกลียดใครไม่นานวัน แต่แรกนั้นนานกว่าใคร

เจ้าพระยาหยาดยาใจ คือสายใยหยาดจากทรวง

เห่เอยเห่เรือสวรรค์ เพลงคนธรรพ์ลั่นลือสรวง

ฝากหาวเดือนดาวดวง อย่าลับล่วงอยู่นิรันดร์เทอญ.



นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์



กาพย์เห่เรือ ชมเมือง / สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน


-----------------------------------------


บทที่ ๒

ชมเมือง



สยามเอยอุโฆษครื้น คุณขจร

สุขสถิตสถาพร ผ่านฟ้า

ไตรรงค์ลิ่วลมสลอน อวดโลก

ตราบเมื่อนี้เมื่อหน้า เมื่อโน้นนิรันดร์เกษม



สยามเอย สยามรัฐ งามร่มฉัตรทัดเทียมโพยม

กิตติศัพท์ขับประโคม โครมครืนครั่นลั่นหน้าคง

สุโขทัยไกลสุด ถึงอยุธยายง

ธนบุรีลอยฟ้าลง ทรงศักดิ์ฟื้นคืนคุณขจร

รัตนโกสินทร์ศิลป์ สืบระบิลอันบวร

แม่นแม้นแดนอมร ถอนจากฟ้ามาเมืองดิน

เจ้าเอย เจ้าพระยา ถั่งธารามาเรื่อยริน

ทวยไทยได้อาบกิน ลินลาศลุ่มขุมกำลัง

งามเอย งามระยับ แวววาววับวัดเวียงวัง

ย่ำค่ำย่ำระฆัง วังเวงหวานซ่านซึ้งเสียง

เจดีย์ศรีสูงเหยียด เสียดยอดท้าฟ้ารายเรียง

ปรางค์ยอดทอดเงาเคียง เลี้ยงตาเมืองเรื้องเรืองรมย์

พืชพันธุ์ธัญญาผล เลี้ยงชีพชนดลอุดม

นาสวนชวนชื่นชม ร่มรื่นไม้ไพรพฤกษ์มี

รอยยิ้มพิมพ์ใจสวย ชมรุ่มรวยด้วยไมตรี

เสน่ห์ประเพณี ศรีสง่ามานิรันดร์

น้ำใจไม่เคยจืด อยู่ยาวยืดยิ้มยืนยัน

ต่างเพศต่างผิวพรรณ แต่ใจนั้นไม่ต่างใจ

แขกบ้านแขกเมืองมา ไทยทั่วหน้าพาสดใส

ท่านมาจากฟ้าไกล อยู่เมืองไทยไร้กังวล

เทคโนอาจน้อยหน้า แต่ข้าวปลาไม่ขัดสน

สินทรัพย์อาจอับจน แต่ใจคนไม่จนใจ

บ้านเรือนไม่หรูหรา แต่สูงค่าปัญญาไทย

หนทางอาจห่างไกล แต่หัวใจใกล้ชิดกัน

ศาสนาสถาพร ประชากรเกษมสันต์

ร่มธรรมฉ่ำชีวัน ฟั้นฝึกใจใฝ่ความดี

ราชันขวัญสยาม ปิ่นเพชรงามปักธานี

ร่มพระบารมี ศรีไผทฉัตรชัยชน

ไตรรงค์ธงชัยโชค ลอยอวดโลกโบกลมบน

ขวัญฟ้าขวัญตายล ล้นเลิศหล้าศักดิ์ศรีสยาม

เมื่อนี้ตราบเมื่อหน้า คงคู่หล้ากล้าเกียรติงาม

ใครบุกรุกเขตคาม ตามหาญหักรักษ์แผ่นดิน

ฟ้าเอย ฟ้าสยาม งามกว่าฟ้าทุกธานินทร์

เพลงสยามทุกยามยิน วิญญาณปลื้มดื่มด่ำเอย.



นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ผู้ประพันธ์


------------------------------------------

กาพย์เห่เรือ

สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน



บุญไทยไพจิตรเจ้า จักรวาล

บรมขัตติย์ปัจจุบันกาล ก่อสร้าง

ชูชาติช่วยราษฎร์ศานติ์ สุขสู่ สรรพแล

พระราชกิจเกิดผลกว้าง กวาดร้ายกลายเกษมฯ

ช้าละวะเห่ สมเด็จภูวดล ภูมิพลอดุลยเดช

จักรินปิ่นประเทศ ปกไผทไทยสุขศานติ์

มูลเห่ ด้วยทรงธำรงรัฐ ตามดำรัสปฎิญาณ

ณ ห้องพระโรงธาร วันราชาภิเษกศรี

เราจักครองโดยธรรม นำผองไทยทั่วธานี

ให้อยู่ดีกินดี มีความสุขสิ้นทุกข์ภัย

พระองค์คอยทรงตรับ สดับข่าวชนชาวไทย

เดือนร้อนรอนที่ใด เสด็จไปถึงที่นั้น

ผันแปรทรงแก้ไข บำบัดภัยให้สุขสันติ์

น้ำแล้งแต่งแก้พลัน สรรค์เขื่อนฝายส่งสายชล

ที่แล้งแห้งเหือดแสน ฝนเทียมแทนแม้นสายฝน

ดับเข็ญเย็นกระมล ดลพฤกษ์พุ่มชอุ่มงาม

ชาวเขาอยู่บนเขา ทั้งแม้วเย้าเนาเขตคาม

เสด็จฝ่าบุกป่าหนาม ตามเยี่ยมเยือนเพื่อเตือนใจ

ให้เลิกให้ละฝิ่น เลิกทิ้งถิ่นทำลายไพร

รู้เปลี่ยนปลูกพืชไร่ เพิ่มผลให้ได้เงินทอง

พระทัยใฝ่แต่ช่วย อำนวยให้ไทยทั้งผอง

รู้จักรักปรองดอง ปองจิตร่วมรวมแรงกัน

รู้กิจสหกรณ์ รวมทุนรอนได้ผ่อนผัน

ผลิตดลผลอนันต์ อเนกแท้แก่ชาวไทย

พระหวงห่วงปวงชน ทั่วทุกหนแห่งเหนือใต้

ตกออกทั้งนอกใน ชนบทจรดแดน

ยามรัฐอุบัติเหตุ เกิดอาเพศวิกฤติแสน

วิปโยคสบโศกแกลน ทรงแก้ได้ด้วยบารมี

พระองค์ทรงสามารถ สรรพศาสตร์ประเสริฐศรี

กีฬาและดนตรี เกษตรเชี่ยวชำนาญการ

ยิ่งยงองค์กษัตริย์ เถลิงรัฐไทยสถาน

นวมินทร์ปิ่นนฤบาล สืบสายวานวงศ์จักรี

ทรงครองผองประชา ด้วยเมตตาและปรานี

เหมือนชนกปกเกศี เปี่ยมรักสุดบุตรธิดา

ขอให้ทรงสำราญ โรคภัยพาลอย่าบีฑา

เจริญชนมพรรษา พระพลานามัยทวี

ขอรัตนโกสินทร์ อันเป็นถิ่นราชธานี

คู่ราชวงศ์จักรี จงอยู่มั่นนิรันดร

นามเลื่องเรืองรุ่งโรจน์ เกียรติช่วงโชติเกริกกำจร

บรรดาดัสกร จงแพ้พ่ายมลายเทอญ ฯ



อาจารย์ มนตรี ตราโมทย์ ผู้ประพันธ์

เนื่องในโอกาสสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี

Google

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 1

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 2

ขบวนเรือพระราชพิธี Royal Barge 12June2006 part 3 ตอนจบ

คลิปเห่เรือในตอนกลางคืนงานเอเปค